ฟันหักทำไง ? บทความนี้มีคำตอบ
ร่องรอยฟันหักที่เห็นได้อย่างชัดเจน

เคยไหม ที่เคี้ยวอาหารอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรแข็ง ๆ หลุดเข้ามาในปาก พอคายออกมาดูก็ต้องตกใจ เพราะเจ้าวัตถุปริศนาก็คือฟันของเรานั่นเอง แถมยังหลุดมาไม่ครบซี่อีกด้วย ปัญหานี้คืออาการ “ฟันหัก” หรือ “ฟันแตก” และเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะถ้าปล่อยไปอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด บทความนี้จึงจะมาอธิบายให้เข้าใจว่า หากเกิดฟันหักทำไงดี รวมถึงวิธีการรักษาฟันหักที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เรียกได้ว่าถ้าใครเจอปัญหานี้ก็สามารถรับมือได้อย่างมีสติ ติดตามได้เลย

ฟันหักคืออะไร ?

ก่อนที่จะไปถึงคำตอบว่าฟันหักทำไง สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเป็นอันดับแรกคือความหมายของอาการ ที่เรียกว่าฟันหัก อธิบายให้เข้าใจฉบับง่าย ฟันหักคือภาวะที่โครงสร้างของเนื้อฟันเกิดการแตกหัก หรือบิ่น โดยเกิดจากหลากหลายสาเหตุซึ่งเราจะอธิบายในหัวข้อต่อไป
ฟันหักสามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับตามความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่รอยแตกเล็ก ๆ ไปจนถึงการแตกหักของฟันทั้งซี่ ดังต่อไปนี้

  1. รอยแตกระดับผิวฟัน (Enamel Infraction) ระดับนี้มีเพียงรอยร้าวบนผิวเคลือบฟัน โดยไม่มีการสูญเสียเนื้อฟัน
  2. ฟันบิ่น (Enamel Fracture) คือการแตกหักเฉพาะส่วนเคลือบฟันโดยไม่ถึงชั้นเนื้อฟัน
  3. ฟันหักที่ส่วนตัวฟัน (Crown Fracture) การแตกหักลุกลามถึงชั้นเนื้อฟันแต่ไม่ถึงโพรงประสาท
  4. ฟันหักที่ส่วนตัวฟันและโพรงประสาทฟัน (Crown-Root Fracture) ถือเป็นระดับที่รุนแรง โดยฟันจะแตกลึกไปถึงโพรงประสาท และรากฟัน

สาเหตุที่ทำให้ฟันหัก

  • ฟันผุลึกจนเนื้อฟันบาง และแตกหักได้ง่าย : ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา จะค่อย ๆ ลุกลามทำลายเนื้อฟัน ส่งผลให้โครงสร้างฟันอ่อนแอลง เมื่อต้องรับแรงเคี้ยว หรือสัมผัสกับสิ่งของแข็ง ก็อาจเกิดรอยแตกหรือหักได้ง่าย
  • การเคี้ยวของแข็ง : พฤติกรรมการเคี้ยวของแข็ง เช่น การกัดลูกอม แทะกระดูก หรือการเคี้ยวน้ำแข็ง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันแตกหักได้เช่นกัน
  • การรับประทานอาหารที่มีอุณหภูมิต่างกันอย่างฉับพลัน : การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น กินอาหารร้อนจัดแล้วดื่มน้ำเย็นทันที หรือกินน้ำแข็งหลังจากดื่มกาแฟร้อน ๆ ทำให้เกิดการหดตัวและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ของเนื้อฟัน เกิดแรงกดภายในจนอาจทำให้ฟันแตกได้
  • ประสบอุบัติเหตุอย่างแรง : ไม่ว่าจะเป็นการล้ม การถูกกระแทก หรือการเล่นกีฬา โดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกัน ล้วนส่งผลกระทบต่อฟัน ทำให้ฟันหัก บิ่น หรือร้าวได้
  • การสบฟันแรง ๆ : ผู้ที่มีปัญหาการสบฟันผิดปกติ หรือนอนกัดฟัน ส่งผลต่อแรงกดที่กระทำต่อฟัน เป็นสาเหตุให้ฟันสึก กร่อน และอาจเกิดรอยแตกหรือหักได้
  • ฟันมีรอยอุดขนาดใหญ่ : การอุดฟันที่เนื้อฟันสูญเสียไปมาก สิ่งที่ตามมาคือโครงสร้าง และความแข็งแรงของฟันที่อาจอ่อนแอลง และมีความเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย

ชิ้นส่วนฟันที่หักอยู่ในมือ

แนวทางการรักษาฟันหัก

ฟันหักทำไง…แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องทำคือรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด อย่านิ่งนอนใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะฟันที่แตกหักอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรง และยากต่อการรักษาได้ โดยแนวทางการรักษาฟันหักมีด้วยกันหลากหลายวิธีตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้

  • ขัดแต่งรอยบิ่นให้เรียบ : กรณีฟันบิ่นเพียงเล็กน้อย และไม่ได้อยู่ในบริเวณฟันหน้า ทันตแพทย์จะทำการรักษาฟันหัก ด้วยการขัดแต่งรอยบิ่นให้เรียบเนียน ลดความคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลในช่องปาก ป้องกันการบิ่นเพิ่ม
  • อุดฟัน : กรณีที่ฟันหักแต่ไม่ใหญ่มาก สามารถอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน เพื่อซ่อมแซมรอยหัก และปกป้องเนื้อฟันที่เหลืออยู่ให้แข็งแรง
  • รักษารากฟัน : ในกรณีที่ฟันหักลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษารากฟันก่อน เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจเข้าไปสู่ราก และเพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคต จากนั้นจึงบูรณะส่วนของฟันที่หักด้วยการทำครอบฟันที่จะช่วยปกป้องเนื้อฟันที่เหลืออยู่ รวมถึงช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่ฟันซี่นั้น
  • ถอนฟัน : ถ้าฟันหักรุนแรงจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือมีการติดเชื้อที่รากฟันจนไม่สามารถรักษาฟันหักได้ ทางเลือกสุดท้ายคือการถอนฟันซี่นั้นออก และใส่ฟันทดแทนในภายหลัง ซึ่งอาจเป็นการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ สะพานฟัน หรือรากฟันเทียม เป็นต้น

รักษาฟันหักกับทันตแพทย์ประสบการณ์สูงที่คลินิกทันตแพทย์สว่าง

เพราะฟันหักไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ดังนั้น เมื่อได้คำตอบแล้วว่าฟันหักทำไง ก็อย่ารอช้า ควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด และถ้าหากมองหาคลินิกรักษาฟันหักที่น่าเชื่อถือ สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่คลินิกทันตแพทย์สว่าง และรับการรักษาอย่างใกล้ชิดจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ประสบการณ์ยาวนานกว่า 50 ปี ได้รับการรับรองและอบรมจากสถาบันชั้นนำมากมาย ทั้ง American Board of Oral Implantology และ American Board of Prosthodontics นอกจากนั้นยังมีบริการทันตกรรมอื่น ๆ ทั้งรักษารากฟัน จัดฟัน ครอบฟันหน้า ทำครอบฟัน และอีกมากมาย สอบถามข้อมูลและนัดหมายเข้าพับทันตแพทย์ได้ที่เบอร์ 02-531-3231 และ 064-465-0565 หรือ @swcdental (มี @ ด้วย) พร้อมเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00-20.00 น.

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. What to Do If You Chip or Break a Tooth. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 จาก https://www.healthline.com/health/how-to-fix-a-chipped-tooth
  2. Repairing a Chipped or Broken Tooth. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 จาก https://www.webmd.com/oral-health/repairing-a-chipped-or-broken-tooth